วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความหมายของนิติกรรม



นิติกรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 "นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ"

สาระสำคัญของหลักนิติกรรม ประกอบไปด้วย

1. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา
2. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
3. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำที่มุ่งผูกนิติสัมพันธ์
4. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ
5. เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

นิติกรรมต้องเป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา

การแสดงเจตนา สามารถแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่


1. การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง เป็นลักษณะของการแสดงเจตนาที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถแสดงออกได้ 1) โดยวาจา 2) โดยลายลักษณ์อักษร และ 3) โดยการแสดงกิริยาอาการ

2. การแสดงเจตนาโดยปริยาย เป็นลักษณะของการแสดงเจตนาที่ไม่ชัดแจ้ง แต่มีพฤติการณ์แสดงได้ว่า มีความประสงค์เช่นนั้น เช่น นาย ก ยืมเงินนาย ข 300 บาท โดยทำสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมานาย ข ได้ทราบว่าเงิน 300 บาท ที่นาย ก ยืมไปนั้นเพื่อนำไปซื้อยาให้บุพการี นาย ข จึงฉีกสัญญากู้ยืมเงินทิ้ง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า นาย ข ยกหนี้ให้นาย ก แล้ว เป็นต้น


3. การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง แม้ตามปกติการนิ่งจะไม่ได้หมายถึงการแสดงเจตนา แต่ในบางครั้งการนิ่งหรือการละเว้นการกระทำบางอย่าง กฎหมายถือว่าเป็นการแสดงเจตนา เช่น นาย เอ ทำสัญญาเช่าบ้านจากนาย บี เดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี นาย เอ ยังคงเช่าบ้านนาย บี ต่อ และมีการชำระเงินค่าเช่าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ย่อมถือว่าสัญญาเช่านั้นต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 570 "ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น