วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วัตถุประสงค์ของนิติกรรม



วัตถุประสงค์ของนิติกรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 "การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ"


ข้อสังเกต




วัตถุประสงค์ของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ มี 3 ลักษณะ ได้แก่
1. วัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
2. วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย
3. วัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 


1.วัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย

คือการทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เช่น นาย ก กู้เงินนาย ข 500 บาท โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวัน วันละ 100 บาท หรือคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันวันละ 20 % ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ดังนั้น นิติกรรมระหว่างนาย ก และนาย ข ถือเป็นโมฆะ


2.วัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย

2.1 การพ้นวิสัยอย่างแน่แท้ หมายความว่า ไม่สามารถทำสิ่งดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้ เช่น การทำสัญญาซื้อขายดวงจันทร์ การจ้างทำให้รูปปั้นมีชีวิต เป็นต้น

2.2 การพ้นวิสัยเฉพาะกรณี หมายความว่า ตามปกติแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ เฉพาะกรณีนี้เท่านั้นที่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เช่น การซื้อขายบ้าน แต่บ้านหลังนั้นโดนไฟไหม้จนหมด การขอเช่าเรือแต่เรือลำดังกล่าวกลับถูกพายุพัดจนอับปางลง เป็นต้น

กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 462/2478 "...ขณะทำสัญญาจำเลยจ้างโจทย์มาทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ ภายหลังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นละทิ้งหน้าที่ไป จำเลยขอให้คนอื่นมาเป็นบรรณาธิการแทนแต่รัฐบาลไม่อนุญาต โรงพิมพ์จึงถูกปิด กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องวัตถุประสงค์ของพฤติกรรม เป็นการพ้นวิสัย เพราะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะทำนิติกรรม แต่เป็นเหตุการณ์หรือสภาพที่เกิดขึ้นแต่ภายหลังทำนิติกรรมนั้นแล้ว..."


3.วัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 


3.1 นิติกรรมที่มีผลเป็นการขัดขวางไม่ให้เป็นไปตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม

กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 1732/2503 "เมื่อมีหนี้จะต้องรับผิดเกิดขึ้นแล้วคู่กรณีย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ การตกลงตัดสิทธิไม่ให้นำคดีมาสู่ศาลย่อมเป็นโมฆะ ข้อตกลงเช่นนี้ไม่มีผล"



3.2 นิติกรรมที่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเป็นความกัน

กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 2978/2528 "โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับนายทรัพย์พิพาทกัน โจทก์ออกเงินให้จำเลยต่อสู้คดีโดยหวังจะได้ที่ดินที่จำเลยพิพาทกับนายทรัพย์มาเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือน้องสาวให้ได้รับความยุติธรรมจากศาล จึงเป็นสัญญาให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ ทั้งจะเรียกเงินที่ออกไปคืนจากจำเลยก็ไม่ได้ เพราะการที่โจทก์ออกเงินไปนั้นเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย"



3.3 สัญญาจ้างว่าความที่ทนายความตกลงแบ่งส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่ลูกความได้จากคดี


กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 1443/2545 "สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีใจความทำนองว่า จำเลยแต่ละคนตกลงให้ค่าตอบแทนโจทก์จำนวนร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่ได้รับโดยจะจ่ายให้เมื่อได้รับเงินจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นคราว ๆ ไป แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับทรัพย์มรดกหรือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือเงินส่วนแบ่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยทั้งสาม สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้มีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ ไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่ทนายพึงได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไร ทั้งการที่โจทก์มีหนังสือทวงถามเรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสามโดยคิดในอัตราร้อยละ 3 ของทรัพย์มรดกแต่ละรายการที่จำเลยทั้งสามได้รับไปแล้วนั้น ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับค่าจ้างตามผลแห่งคดีที่จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกโดยตรง สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 และเมื่อข้อความในสัญญาจ้างว่าความชัดเจนอยู่แล้ว กรณีไม่อาจตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงให้เป็นอย่างอื่นไปได้อีก"


3.4 สัญญาห้ามประกอบการแข่งขันหรือจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ


กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 725/2519 "โจทก์ออกเงินส่งจำเลยไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น จำเลยจะกลับมาทำงานให้โจทก์ 5 ปี ตามอัตราเงินเดือนที่โจทก์กำหนด ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทำงานให้โจทก์ 1 ปี 3 เดือนก็ลาออกจำเลยผิดสัญญา ศาลให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 45,000 บาท"



3.5 เบ็ดเตล็ด


กรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกาเลขที่ 1913/2505 "ชายมีภริยาแล้วไปตกลงกับหญิงอีกคนหนึ่งว่าจะอยู่กินเป็นสามีภริยากับหญิงคนนั้น  และจะให้เงินแก่หญิงอีกคนนั้น  ถ้ายอมมาเป็นภริยาคนที่สอง  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ  เมื่อหญิงไม่ยอมมาเป็นภริยา  ชายจะฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้เพราะหญิงไม่มีนิติสัมพันธ์ที่จะรับผิดชอบต่อชาย  และเงินที่ชายให้แก่หญิงไปแล้วก็เรียกคืนไม่ได้ เพราะว่าไม่มีสิทธิเรียกคืนตามกฎหมาย"


ความหมายของนิติกรรม



นิติกรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 "นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ"

สาระสำคัญของหลักนิติกรรม ประกอบไปด้วย

1. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา
2. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
3. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำที่มุ่งผูกนิติสัมพันธ์
4. นิติกรรมต้องเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ
5. เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

นิติกรรมต้องเป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา

การแสดงเจตนา สามารถแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่


1. การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง เป็นลักษณะของการแสดงเจตนาที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถแสดงออกได้ 1) โดยวาจา 2) โดยลายลักษณ์อักษร และ 3) โดยการแสดงกิริยาอาการ

2. การแสดงเจตนาโดยปริยาย เป็นลักษณะของการแสดงเจตนาที่ไม่ชัดแจ้ง แต่มีพฤติการณ์แสดงได้ว่า มีความประสงค์เช่นนั้น เช่น นาย ก ยืมเงินนาย ข 300 บาท โดยทำสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมานาย ข ได้ทราบว่าเงิน 300 บาท ที่นาย ก ยืมไปนั้นเพื่อนำไปซื้อยาให้บุพการี นาย ข จึงฉีกสัญญากู้ยืมเงินทิ้ง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า นาย ข ยกหนี้ให้นาย ก แล้ว เป็นต้น


3. การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง แม้ตามปกติการนิ่งจะไม่ได้หมายถึงการแสดงเจตนา แต่ในบางครั้งการนิ่งหรือการละเว้นการกระทำบางอย่าง กฎหมายถือว่าเป็นการแสดงเจตนา เช่น นาย เอ ทำสัญญาเช่าบ้านจากนาย บี เดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี นาย เอ ยังคงเช่าบ้านนาย บี ต่อ และมีการชำระเงินค่าเช่าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ย่อมถือว่าสัญญาเช่านั้นต่อไปไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 570 "ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา"